ห่วงโซ่อุปทานอาหารยั่งยืนมุ่งสู่เมืองเชียงใหม่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียนบนฐานชีวภาพ

Sustainable Food Supply Chain towards Chiang Mai Bio-Circular-Green City

Sustainable Food Supply Chain towards Chiang Mai Bio-Circular-Green City

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเภท Fundamental Fund ประจำปีงบประมาณ 66

ภายใต้แผนงาน

แผนงานวิจัย 2 การใช้เทคโนโลยีสีเขียวในการปรับเปลี่ยนเกษตรที่มีสารเคมีตกค้างเป็นเกษตรปลอดสารเคมี: ระบบตรวจสอบย้อนกลับสารเคมีตกค้างในพืชผลการเกษตรและการส่งเสริมตลาดเกษตรอินทรีย์

ชุดโครงการที่ 2 การนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ในการสร้างความตระหนักและส่งเสริมธุรกิจเกษตรอินทรีย์ในภาคสังคมและผู้บริโภค

ชื่อโครงการ

1.การประเมินศักยภาพการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเกษตรอินทรีย์และประเมินพฤติกรรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าร่วมเครือข่ายเกษตร(อินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มธุรกิจ

(Greenhouse Gas Reduction Potential of Organic Agriculture and Assessment of Pro-environmental Behaviors and Factors Influencing Engagement in Organic Agriculture Network of Farmer and Business Groups)

วัตถุประสงค์

1) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิผลและความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่อการเข้าร่วมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

2) เพื่อเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการเข้าร่วมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์แก่กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

3) เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตพืชแบบเกษตรอินทรีย์เทียบกับแบบเกษตรที่ใช้สารเคมีและประเมินศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกของเกษตรอินทรีย์

โดยจะมีการบูรณาการร่วมกับโครงการที่กะลังอยู่ในระหว่างการขอทุนวิจัยคือ โครงการ

2.แพลตฟอร์มจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหารและขยะอาหารอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เมืองสีเขียวที่มีเศรษฐกิจหมุนเวียนบนฐานชีวภาพ

(Sustainable Food Supply Chain Management Platform towards Bio-Circular-Green City)

วัตถุประสงค์

1) วิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของวัตถุดิบอาหารและอาหาร (Food Value Chain) และปริมาณการสูญเสียและขยะอาหาร (Food Loss and Food waste) ตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เข้ามาบริโภคในเชียงใหม่

2) วิเคราะห์แนวทางในการลดการสูญเสียและของเสียอาหาร รวมถึงกระบวนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนโดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเมืองเชียงใหม่ที่ลดลงจากการปรับเปลี่ยน

3) พัฒนาแพลตฟอร์มแบบมีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหารอย่างยั่งยืนให้เหมาะสมกับเมืองเชียงใหม่และดำเนินโครงการนำร่องการลดการสูญเสียและขยะอาหารโดยใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเมืองเชียงใหม่ ทั้งผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร ตลาด ร้านค้าและเกษตรกร

ที่มาความสำคัญ โครงการที่ 1

จากนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยเป็นผู้นําในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้าและการบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” นั้นได้นำไปสู่แผนการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560- 2564 ที่ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อจะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออก และเพื่อยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้าน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาองค์ความรู้วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี วิศวกรรมและนวัตกรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากเกษตรพึ่งพาสารเคมีไปสู่เกษตรปลอดสารเคมีนั้นเป็นไปได้ นอกจากนั้นแล้วการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวยังสามารถมีดีต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้านหนึ่งคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดวัฎจักรชีวิต จากการลดการผลิตสารเคมีทางการเกษตรและปุ๋ยเคมี รวมถึงการขนส่งมาจากต่างประเทศ ซึ่งคนส่วนใหญ่โดยทั่วไปยังไม่ทราบถึงศักยภาพของการลดก๊าซเรือนกระจกจากการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจะช่วยเสริมแรงบวกในการพลักดันเกษตรที่ใช้สารเคมีไปเป็นเกษตรอินทรีย์ได้

ในขณะเดียวกันงานวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรอินทรีย์ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดทัศนคติเชิงบวกต่อเกษตรอินทรีย์ ทั้งในกลุ่มเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน นับว่ามีความจำเป็นเช่นกันอันจะสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านจากเกษตรพึ่งพาสารเคมีไปสู่เกษตรปลอดสารเคมีนั้นเป็นไปอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาพฤติกรรมหรือการปฏิบัติเพื่อส่งเสริมส่งแวดล้อมในภาคการเกษตร รวมถึงการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติดังกล่าวในบริบทของประเทศไทยนั้นยังมีค่อนข้างจำกัด การศึกษานี้จึงมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงพฤติกรรมการปรับเปลี่ยนไปสู่เกษตรอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้เกี่ยวข้องอื่นในห่วงโซ่อุปทาน

ที่มาความสำคัญ โครงการที่ 2

จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่กำลังเผชิญความท้าทายในหลายๆด้านเช่นเดียวกับเมืองท่องเที่ยวใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของตึกอาคารสิ่งปลูกสร้างการขยายตัวของธุรกิจการค้าต่างๆ เนื่องจากมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นซึ่งรวมทั้งนักท่องเที่ยว ในเขตเมืองที่มีประชากรและนักท่องเที่ยวและมีกิจกรรมการค้าเป็นจำนวนมากส่งผลให้เกิดขยะและของเสียเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะขยะอาหาร (Food waste) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของขยะทั้งหมด หรือประมาณเกือบ 250 ตันต่อวัน โดยขยะในเชียงใหม่โดยส่วนใหญ่จะถูกส่งไปกำจัดโดยวิธีการฝังกลบที่ระยะทางไกลกว่า 100 กม.จากตัวเมืองเชียงใหม่ นอกจากนั้นส่วนที่เป็นขยะอาหารส่วนใหญ่ที่จะถูกกำจัดโดยการฝังกลบ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่ยั่งยืน ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงมาก ขยะอาหารไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ทั้งที่สามารถนำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยเพื่อหมุนเวียนธาตุอาหารกลับไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกในเมืองหรือรอบๆตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อลดต้นทุนปุ๋ยเคมีและทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ปลอดภัยและยั่งยืนขึ้น

การแก้ปัญหาในเรื่องการสูญเสียอาหารและขยะอาหารสามารถดำเนินการโดยใช้หลักการของ BCG Economy คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)  แนวคิดที่สนับสนุนให้เราใช้สิ่งของหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด มีการวางแผนให้สิ่งของที่เราใช้สามารถคืนสู่สภาพเดิมหรือพร้อมนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ถือเป็นแนวทางลดการใช้ทรัพยากรใหม่ เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต รวมถึงปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นได้จากวัสดุเหลือทิ้ง แนวคิดนี้ยังสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะการบริหารจัดการเพื่อลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน การวางแผนการบริโภคเพื่อลดของเสีย และการแปรสภาพขยะอาหารหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เช่น การนำขยะอาหารไปทำปุ๋ยเพื่อใช้เองหรือส่งกลับสู่แปลงเกษตรกรหรือสวนในเมือง จะเป็นการส่งเสริมให้เกิด Circular Nutrient Cycle หมุนเวียนธาตุอาหารและลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในการบำรุงรักษาแปลงเกษตรและภูมิทัศน์สวนในเมือง นำวัสดุธรรมชาติหมุนเวียนทำปัจจัยผลิต นำนวัตกรรมชีวภัณฑ์ ถ่านชีวภาพ (Biochar) ใช้ในการดูแลแปลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสามารถบูรณาการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Sustainable tourism and Eco-tourism) ดังตัวอย่างที่กำลังดำเนินการอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ในโครงการ Phuket Sand Box ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีโดยมีการสร้างโปรแกรมท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมกับสถานประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวและอาหารให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนขึ้น โดยการดำเนินการต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับหลังวิกฤติโควิทนี้ที่จะมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาในจังหวัดท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงเชียงใหม่

ดังนั้นหนึ่งในเรื่องสำคัญของการการสร้างเมืองที่ยั่งยืนขึ้นในอนาคตคือการจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหารของเมืองเพื่อการลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร ร่วมกับการพัฒนา เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)  มีความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนพร้อมการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ แม้ปัจจุบันจะมีกระแสสร้างการตระหนักรู้เรื่อง BCG Economy มากขึ้นแต่ยังขาดการผลักดันสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน วัดผลได้ และขาดการสร้างการมีส่วนร่วมและการเชื่อมโยงกันของภาคส่วนต่างๆ ในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อนำไปสู่ผลกระทบร่วม (Collective Impact) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร แม้จะมีการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ที่สามารถตอบโจทย์เป้าหมาย BCG Economy ได้แก่ การเพิ่มมูลค่าสินค้า ลดต้นทุนการเพาะปลูกจากการบริหารระบบนิเวศดิน น้ำ อากาศ และการใช้วัสดุธรรมชาติหมุนเวียนเป็นปัจจัยผลิต เป็นการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังขาดการผลักดันสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าจากเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคให้มาร่วมพัฒนา BCG Economy

ดังนั้นเป้าหมายของงานวิจัยนี้คือศึกษาห่วงโซ่คุณค่าของวัตถุดิบอาหารและอาหารที่เข้ามาบริโภคในเชียงใหม่และการสูญเสียรวมถึงขยะอาหารที่เกิดขึ้นโดยเน้นร้านอาหารและโรงแรมที่เป็นธุรกิจการท่องเที่ยวและผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ในพื้นที่ศึกษา วิเคราะห์แนวทางในการลดการสูญเสียและการแปรรูปหมุนเวียนธาตุอาหารจากเศษอาหาร และดำเนินโครงการนำร่องการลดการสูญเสียและขยะอาหารโดยใช้แพลตฟอร์มแบบมีส่วนร่วม จากทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการและเกษตรกร เชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าจากเกษตรกรอินทรีย์ผู้ผลิตวัตถุดิบ สู่ผู้ประกอบการ (เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ผู้แปรรูป ตลาดร้านค้า และองค์กรทั่วไปที่มีความสนใจการจัดการด้านเกษตรอาหารเพื่อสุขภาวะพนักงาน หรือการทำ CSR)  ที่เป็นกลไกสนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าเกษตรและอาหารอินทรีย์ ให้กลุ่มผู้ใช้งานได้เข้าใจและนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปปฏิบัติใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและอุตสาหกรรม และยังนำไปสู่การสร้างผลกระทบร่วม (BCG Collective Impact) พร้อมการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากการยกระดับการทำงานของเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และยังส่งเสริมโอกาสการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจสังคมกับนานาประเทศที่ต่างให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรม BCG Economy ที่เป็นรูปธรรม มีการติดตามวัดผลได้

กรอบแนวคิดโครงการวิจัย

โครงการนี้จะวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าของวัตถุดิบอาหารและอาหารที่เข้ามาบริโภคในเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน แหล่งที่มาว่ามาจากในเขตหรือนอกเขตพื้นที่ศึกษา กระบวนการเพาะปลูกหรือการผลิตแบบแบบดั้งเดิมคือใช้สารเคมีหรือปลูกแบบอินทรีย์ และเก็บข้อมูลปริมาณการสูญเสียรวมถึงขยะอาหารที่เกิดขึ้นโดยเน้นร้านอาหารและโรงแรมที่เป็นธุรกิจการท่องเที่ยวและผู้บริโภคที่เป็นนักท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งรวมถึงการจัดการขยะอาหาร โดยจะรวบรวมข้อมูลใส่ใน database หลังจากนั้นจะวิเคราะห์แนวทางในการลดการสูญเสียและการแปรรูปหมุนเวียนธาตุอาหาร หรือนำกลับคืนพลังงานจากเศษอาหารในแต่ละกลุ่มที่มีลักษณะแตกต่างกัน โดยใช้หลักการของ BCG Economy และทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพแนวทางต่างๆ

โดยจะมีตัวชี้วัดคือปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารที่ลดลง ปริมาณขยะอาหารที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินการเมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินการแบบเดิม (Business as Usual:BAU)

หลังจากนั้นจะทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เช่น สวน ฟาร์ม ห้าง ตลาดร้านค้า โรงแรมและร้านอาหาร ดำเนินโครงการนำร่องการลดการสูญเสียและขยะอาหารโดยใช้แพลตฟอร์มแบบมีส่วนร่วม จากทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการและเกษตรกรผ่าน TOCA Platform ซึ่งพัฒนาโดยสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) ที่เป็นกลไกสนับสนุนการสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าเกษตรและอาหารอินทรีย์ ให้กลุ่มผู้ใช้งานได้เข้าใจและนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปปฏิบัติใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและอุตสาหกรรม และยังนำไปสู่การสร้างผลกระทบร่วม (BCG Collective Impact) เพื่อเป็นการสร้างต้นแบบด้าน BCG model ในพื้นที่ สร้างความตระหนักรู้และการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในระดับพื้นที่ ดังแสดงตามกรอบแนวคิดในรูปที่ 4.1

รูป 4.1 กรอบแนวคิดในการวิจัย

ติดต่อ

© Copyright 2024 | All right reserved.